<iframe src="https://www.googletagmanager.com/ns.html?id=GTM-52DKJGF" height="0" width="0" style="display:none;visibility:hidden">
ภาษา
L2.908.4.78.3 The Longines Master Collection watch
ดูบทความล่าสุด

พลังงานสำรองในนาฬิกาคืออะไร?

หนึ่งในคอนเซปต์ของนาฬิกาจักรกลที่ได้รับการถามถึงมากที่สุดคือ พลังงานสำรอง โดยทั่วไปแล้วพลังงานสำรองคือปริมาณของพลังงานสะสมภายในนาฬิกาจักรกล (ระยะเวลาที่นาฬิกาสามารถทำงานอย่างต่อเนื่อง) ก่อนที่พลังงานจะหมดลง

พลังงานสำรองของนาฬิกาคือระยะเวลาที่นาฬิกาจักรกลทำงานหลังได้รับการหมุนขึ้นลานจนสุด ปัจจุบันนาฬิกาพลังงานสำรองหรือที่เรียกกันในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาสวิสว่า “Reserve de Marche” สามารถมอบพลังงานสำรองได้ตั้งแต่ 42 ชั่วโมงขึ้นไป

พลังงานสำรองทำงานอย่างไร

นาฬิกาจักรกลทุกเรือนไม่ว่าจะเป็นระบบหมุนขึ้นลานด้วยตนเอง (ระบบอัตโนมัติ) หรือระบบหมุนขึ้นลานด้วยมือต่างทำงานด้วยลานตัวหลักที่ขดตัวอย่างแน่นหนาเมื่อมีการหมุนขึ้นลาน ลานดังกล่าวถูกติดตั้งไว้ภายในกระปุกอันเป็นที่เก็บสำรองพลังงาน หลังถูกไขจนสุด ลานจะเริ่มคลายตัวอย่างสม่ำเสมอ ปลดปล่อยพลังงานอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนวงล้อ เข็มนาฬิกา วันที่ และฟังก์ชันอื่นๆ

เมื่อลานคลายตัวจนสุดและพลังงานถูกใช้จนหมดแล้ว นาฬิกาจะหยุดทำงานจนกว่าจะมีการหมุนขึ้นลานอีกครั้ง ความยาวของลานตัวหลักสัมพันธ์กับปริมาณพลังงานสำรองของนาฬิกาโดยตรง ยิ่งลานมีความยาวมากเท่าไหร่ ระยะเวลาของพลังงานสำรองหรือการลดลงของการแกว่งก็มากขึ้นเท่านั้น เช่น จาก 28,800 แอมป์/ชั่วโมง เป็น 25,200 แอมป์/ชั่วโมง (การแกว่งน้อยลงเท่าใด พลังงานที่ต้องการก็น้อยลงเท่านั้น)

นอกจากนี้นาฬิกาบางเรือนยังมีกระปุกและลานสองชุดเพื่อสำรองพลังงานได้นานขึ้น

นาฬิการะบบอัตโนมัติมีจานเหวี่ยงที่ให้พลังงานแก่นาฬิกาอย่างต่อเนื่องด้วยการเคลื่อนไหวของข้อมือ เราสามารถสวมใส่นาฬิกาไปสักระยะหนึ่ง ถอดออกหนึ่งวัน แล้วกลับมาสวมใส่อีกครั้งโดยที่นาฬิกาก็ยังทำงานเช่นเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพลังงานสำรอง ตัวอย่างเช่น หากคุณถอดนาฬิกาออกในคืนวันศุกร์ แล้วไม่ได้สวมใส่อีกเลยจนถึงเช้าวันจันทร์ คุณอาจต้องปรับตั้งเวลาหากพลังงานสำรองต่ำลง หรือคุณอาจไม่ต้องพึ่งพาพลังงานสำรองของนาฬิกาเรือนดังกล่าว นาฬิการะบบอัตโนมัติโดยทั่วไปสามารถสะสมพลังงานสำรองประมาณ 36-48 ชั่วโมง นาฬิการะบบอัตโนมัติส่วนใหญ่ของ Longines มอบพลังงานสำรองเฉลี่ยที่ 64 ชั่วโมง

ปริมาณพลังงานสำรองในนาฬิกาไขลานจะยาวนานกว่านาฬิการะบบอัตโนมัติ แต่พลังงานสำรองจะลดต่ำลงและถูกใช้ไปเมื่อลานนาฬิกาคลายตัวจนสุด เว้นแต่ผู้สวมใส่จะหมุนเกลียวเม็ดมะยมของนาฬิกาด้วยมือก่อนถึงเวลาดังกล่าว

วิธีการจ่ายพลังงานให้แก่นาฬิกาเป็นอย่างไร

ในการจ่ายพลังงานสำรองจะต้องหมุนเกลียวเม็ดมะยม สำหรับนาฬิกา Longines เม็ดมะยมควรอยู่ในตำแหน่ง 0 (ตำแหน่งกดลง) และได้รับการหมุนเกลียว หากนาฬิกามีเม็ดมะยมแบบหมุนเกลียวเข้าด้านใน จะต้องคลายเม็ดมะยมก่อนทำการหมุนเกลียว ในบางรุ่นเราสามารถหมุนเกลียวเม็ดมะยมในทิศทางใดก็ได้ การจ่ายพลังงานในปริมาณมากไม่เป็นปัญหาต่อนาฬิการะบบอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลหากมีการหมุนเกลียวเม็ดมะยมบ่อยครั้งเกินไป เพื่อป้องกันลานตัวหลักจากความแน่นตึงเกินควร มีการติดตั้งอุปกรณ์นิรภัยที่แตกต่างกันระหว่างนาฬิการะบบอัตโนมัติและนาฬิกาไขลานด้วยมือ นาฬิการะบบอัตโนมัติมีการเสริมแผ่นสแตนเลสที่แข็งแรงเป็นพิเศษ (เรียกว่า คลัตช์เลื่อนตัว) ตรงปลายลานตัวหลัก ทำให้มันสามารถเลื่อนตัวผ่านกระปุกลานเมื่อมีการหมุนขึ้นลานนาฬิกาจนสุดได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ทำให้ลานตัวหลักเกิดความแน่นตึงเพิ่มขึ้น

นาฬิกาจักรกลมีกลไกที่ปลดปล่อยเฟืองหมุนจากลานตัวหลักเมื่อมีการหมุนลานจนสุด

นอกจากนี้นาฬิกายังสามารถรับพลังงานผ่านการเคลื่อนไหวของแขนของผู้สวมใส่ อย่างไรก็ตามการไขลานยังมีความสำคัญหากต้องการให้นาฬิกาได้รับพลังงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากกลไกการทำงานของนาฬิกาสามารถพึ่งพาการทำกิจกรรมประจำวัน ตัวอย่างเช่น ผู้สวมใส่ที่นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานทั้งวันอาจต้องไขลานนาฬิกาบ่อยครั้งกว่า

เครื่องหมายชี้วัดพลังงานสำรอง

นาฬิกาจักรกลจำนวนมากมีเครื่องหมายชี้วัดพลังงานสำรองบนหน้าปัด เครื่องหมายชี้วัดพลังงานสำรองแสดงเวลาที่นาฬิกาได้รับพลังงานจากการหมุนลานจนสุด และบ่งบอกปริมาณพลังงานที่เหลืออยู่ภายในลานตัวหลักในขณะนั้น โดยวัดพลังงานขณะที่ลานของนาฬิกาคลายตัว การแสดงปริมาณพลังงานสำรองมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับนาฬิกา คุณอาจพบลูกศรชี้ไปที่หมายเลขในช่องรูปโค้ง การแสดงด้วยขีด หรือแม้แต่เครื่องหมาย "ขึ้น/ลง" นาฬิกาบางเรือนมีมาตรวัดที่ใช้สัญญาณสี โดยมาตรจะอยู่ตรงสีน้ำเงินเมื่อมีการหมุนลานจนสุด และเคลื่อนที่ไปยังสีแดงเพื่อเตือนว่าพลังงานอยู่ในระดับต่ำ บางเรือนใช้เครื่องหมาย + หรือ - ผู้มีใจรักนาฬิกาบางรายชื่นชอบเครื่องหมายชี้วัดพลังงานสำรองบนหน้าปัดตรงการออกแบบที่สวยงามและฟังก์ชันการทำงาน

ใช่ว่านาฬิกาจักรกลทุกเรือนจะมีเครื่องหมายชี้วัดพลังงานสำรองบนหน้าปัด คุณประโยชน์ของเครื่องหมายชี้วัดพลังงานสำรองบนหน้าปัดก็คือ มันสามารถบ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไขลานนาฬิกา ไม่ว่าจะหมุนเกลียวเม็ดมะยมบนนาฬิกาแบบไขลานด้วยมือ หรือสวมใส่นาฬิกาสักระยะหนึ่งเพื่อให้นาฬิกาไขลานด้วยตัวมันเอง